• .


  • .

  • Home > Knowledge > เทคนิคการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรม

    เทคนิคการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรม

    1. การบำรุงรักษาหลังเกิดเหตุขัดข้อง (Breakdown Maintenance)

    เป็นการบำรุงรักษาเมื่อเครื่องจักรเกิดการชำรุดและหยุดการทำงานโดยฉุกเฉิน กล่าวได้ว่าเป็นวิธีดั้งเดิมในการบำรุงรักษา แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้วิธีนี้ เพราะสามารถเกิดเหตุขัดข้องกับเครื่องจักรได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะมีการบำรุงรักษาเชิงป้องกันที่ดีเยี่ยมสักเพียงใดก็ตาม

    2. การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance: PM)

    เป็นการบำรุงรักษาเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพการเกิดเหตุขัดข้อง หรือการหยุดทำงานของเครื่องจักรโดยฉุกเฉิน โดยอาศัยการตรวจสภาพเครื่องจักร การทำความสะอาด ขันน็อตสกรูให้แน่น และหล่อลื่นอย่างถูกวิธี มีการปรับแต่งเครื่องจักร รวมถึงการบำรุงและเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยการบำรุงรักษาชนิดนี้ 

    สามารถแบ่งย่อยได้ 2 แบบ คือ การบำรุงรักษาตามระยะเวลา (Periodic Maintenance หรือ Time Based Maintenance: TBM) คือ การดำเนินการอยู่เป็นระยะ ๆ ผ่านการตรวจสอบ ทำความสะอาดอุปกรณ์ และเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อป้องกันความเสียหายอย่างฉับพลัน หรือเกิดปัญหาต่อกระบวนการผลิต
           การบำรุงรักษาแบบคาดการณ์ (Predictive Maintenance) คือ การให้ความสำคัญและใส่ใจกับชิ้นส่วนที่สำคัญของเครื่องจักร เป็นการคาดการณ์ผ่านการตรวจสอบ หรือวินิจฉัย เพื่อที่จะให้ชิ้นส่วนนั้น ๆ สามารถใช้งานได้ครบอายุการใช้งานจริง ๆ กล่าวได้ว่าเป็นการบริหารจัดการแนวโน้มของคุณค่า (Trend Values) โดยอาศัยการตรวจวัดและการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพ และสามารถกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็น การบำรุงรักษาตามสภาพ (Condition Based Maintenance: CBM) ด้วย โดยมากแล้วจะใช้อุปกรณ์วิเคราะห์การสั่น (Vibration Analysers) และมีระบบเฝ้าติดตาม (Surveillance System) เพื่อตรวจสอบสภาพผ่านระบบออนไลน์ (On–line System)

    3.  การบำรุงรักษาเชิงแก้ไขปรับปรุง (Corrective Maintenance)

    เป็นการดัดแปลง ปรับปรุงแก้ไขเครื่องจักรหรือชิ้นส่วนของเครื่องจักร เพื่อขจัดเหตุขัดข้องเรื้อรังของเครื่องจักรให้หมดไปโดยสิ้นเชิง และปรับปรุงสภาพของเครื่องจักรให้สามารถผลิตได้ด้วยคุณภาพและปริมาณที่สูงขึ้น โดยเป็นการพัฒนาความน่าเชื่อถือและง่ายต่อการบำรุงรักษา

    4. การป้องกันเพื่อบำรุงรักษา (Maintenance Prevention)

    เป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องจักรที่ไม่ต้องมีการบำรุงรักษา หรือบำรุงรักษาให้น้อยที่สุด โดยอาศัยการออกแบบเครื่องจักรให้มีความแข็งแรง ทนทาน บำรุงรักษาได้ง่าย มีการใช้เทคนิคและวัสดุที่จะทำให้เครื่องจักรมีความน่าเชื่อถือ (Reliability) สูง รวมถึงเลือกซื้อเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ ทนทาน ซ่อมง่ายและสมราคา

    5. การบำรุงรักษาทวีผล (Productive Maintenance)
    เป็นการบำรุงรักษาที่นำเอาการบำรุงรักษาที่กล่าวมาข้างต้นมาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการผลิตให้เกิดผลสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้


    6. การบำรุงรักษาทวีผลแบบทุกคนมีส่วนร่วม
    (Total Productive Maintenance: TPM)

    เป็นการบำรุงรักษาที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกคน ทั้งพนักงานปฏิบัติการในสายการผลิต (Operators) และพนักงานฝ่ายซ่อมบำรุง (Maintenance group) ซึ่งจะรับผิดชอบในการบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรต่าง ๆ ร่วมกัน


    การบำรุงรักษานั้นต้องมีการวางแผนการบำรุงรักษาเครื่องจักรวัตถุประสงค์ของการบำรุงรักษา คือ สามารถที่จะรักษาสมรรถนะความพร้อมในการใช้งานของเครื่องจักร  รักษาประสิทธิผลของเครื่องจักร เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามแผนที่วางไว้  มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด รวมถึงการบำรุงรักษาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องจักรอีกด้วย

     


    © 2017 www.polybond co.td. All Right Reserved
    บริษัทรับทำเว็บไซต์Design By www.cw.in.th